360 จำนวนผู้เข้าชม |
ปุ่มกระดูกหรือกระดูกงอกในช่องปาก พบได้ในคนไข้บางรายซึ่งสาเหตุของการเกิดนั้นยังไม่แน่ชัด อาจพบเพียงแค่ก้อนเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก้อน โดยปกติแล้วจะพบได้ในตั้งแต่วัยรุ่นเป็นต้นไป ในคนทั่วไป มีโอกาสพบปุ่มกระดูกในช่องปากประมาณ 10-20% ในทุกเพศ
โดยปุ่มกระดูกงอกในช่องปากมีรูปร่างไม่แน่นอนในแต่ละคน มีความแข็ง พื้นผิวปกคลุมด้วยเหงือกสีชมพูที่มีลักษณะเช่นเดียวกับเหงือกบริเวณอื่นๆในช่องปาก ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ สามารถพบได้ในบริเวณต่างๆ ของช่องปาก ได้แก่
- ปุ่มกระดูกบริเวณเพดาน (Torus palatinus) พบกึ่งกลางเพดานแข็งในปาก มีขนาดที่แตกต่างกันไป อาจเป็นก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อนรวมๆ กัน ทำให้มองดูคล้ายผิวมะกรูด
- ปุ่มกระดูกงอกบริเวณขากรรไกรล่าง (Torus mandibularis) พบบริเวณสันเหงือกด้านข้างลิ้นของขากรรไกรล่าง
- ปุ่มกระดูกผิวขรุขระ (Exostosis) พบได้ในบริเวณเหงือกด้านชิดแก้มโดยรอบของขากรรไกรทั้งบนและล่าง
ทำไมถึงเกิดปุ่มกระดูกในช่องปาก
โดยปกติแล้ว การเจริญเติบโตของร่างกายจะกำจัดกระดูกเก่าและสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทน ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ แต่ในบางครั้งเกิดการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาแทนที่มากกว่าการทำลายกระดูกเก่า จึงเกิดเป็นปุ่มกระดูกในช่องปากดังกล่าว มีหลายปัจจัยที่ส่งผลได้ เช่น พันธุกรรม เชื้อชาติ เพศ อายุ และมักเกี่ยวข้องกับแรงบดเคี้ยวปริมาณมาก เช่น มีนิสัยขบเค้นฟันในเวลากลางวัน หรือนอนกัดฟันในเวลากลางคืน
มีปุ่มกระดูกในช่องปาก จำเป็นต้องเอาออกไหม
เนื่องจากปุ่มกระดูกนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่อาจสร้างความกังวลเมื่อพบเจอ ซึ่งแท้จริงแล้วปุ่มกระดูกงอกนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ยกเว้นบางกรณีที่มีข้อบ่งชี้ คือ
1. เนื้อเยื่อบริวเณปุ่มกระดูกงอกเกิดเป็นแผลบ่อยครั้ง หรือเป็นแผลเรื้อรังจากการรับประทานอาหาร หรือการแปรงฟันไปกระแทกโดนบริเวณนั้นบ่อยๆ
2. ปุ่มกระดูกมีขนาดใหญ่มากจนขัดขวางการรับประทานอาหาร หรือมีเศษอาหารติดบริเวณซอกของปุ่มกระดูก ยากแก่การทำความสะอาด ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ก่อให้เกิดกลิ่นปาก หรือในผู้ป่วยบางรายทำให้เกิดปัญหาด้านการพูด
3.ปุ่มกระดูกงอกนั้นขัดขวางต่อการใส่ฟันปลอม เพราะโครงฐานของฟันปลอมต้องพาดส่วนที่มีปุ่มกระดูกงอกนี้ หากใส่ฟันปลอมทับปุ่มกระดูกไปเลย จะทำให้เกิดการกดทับ เจ็บ และเกิดแผลเรื้อรังได้
4.ปุ่มกระดูกส่งผลต่อความสวยงามเวลายิ้ม
สำหรับวิธีการรักษา คือ การผ่าตัดเอาปุ่มกระดูกงอกออก ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก โดยมากสามารถทำได้ด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ แต่ภายหลังการผ่าตัดอาจเกิดปุ่มกระดูกงอกขึ้นใหม่อย่างช้าๆ เช่นเดิมได้ จึงต้องมาติดตามผลหลังรักษาอย่างสม่ำเสมอ
อ่านเพิ่ม
*โปรโมชั่น ทันตกรรมตกแต่งเหงือกและกระดูก
*โปรโมชั่น ผ่าฟันคุด-ฟันฝัง
*โปรโมชั่น ถอนฟัน